ผลงานและกิจกรรมต่างๆ ของสมาคม ของ สามัคคีสมาคม

สามัคคีเกมส์

สามัคคีเกมส์ (อังกฤษ: Samaggi Games)เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงปลายภาคเรียนที่ 2 (ประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม) เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาชาวไทยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วทั้งสหราชอาณาจักรได้มีโอกาสได้แข่งขันกีฬาร่วมกัน เพื่อกระชับสัมพันธไมตรี เสริมสร้างน้ำใจนักกีฬา รวมถึงทำความรู้จักเพื่อนใหม่จากต่างมหาวิทยาลัย กีฬาที่จัดแข่งเป็นประจำทุกปี ได้แก่ ฟุตบอล บาสเก็ตบอล วอลเลย์บอล เทนนิส สควอช แชร์บอล แบดมินตัน เซปักตะกร้อ ปิงปอง หมากรุกไทย เป็นต้น โดยในปัจจุบันกีฬาสามัคคีเกมส์เป็นกีฬาประจำปีของนักเรียนไทยที่ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักรซึ่งมีนักเรียนไทยเข้าร่วมปีละกว่า 3,000 คน ทั้งยังมีการจัดกีฬาประจำภาคในแต่ละภาคอีกด้วย

สัมมนาวิชาการประจำปี

กิจกรรมสัมมนาวิชาการประจำปี (อังกฤษ: Samaggi Conference) จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2551 และจัดเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เพื่อเป็นเวทีให้นักเรียนไทยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้นำเสนอผลงานทางด้านวิชาการ ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านสังคมศึกษา ฯลฯ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้อภิปรายแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับหัวข้อหรือประเด็นต่างๆ[1] โดยในปัจจุบันได้มีการเปิดให้นักเรียนไทยในทุกระดับได้แสดงผลงานทางวิชาการ และมีการเชิญบุคคลสำคัญมาบรรยายเพื่อให้ความรู้แก่นักเรียนไทยเป็นประจำทุกปี เช่น ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน, ศ.ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นต้น

กิจกรรมบันเทิง สามัคคีคอนเสิร์ต ในแต่ละปีจะมีการเชิญนักร้องที่มีชื่อเสียงจากประเทศไทยมาเปิดคอนเสิร์ต และในบางปีได้มีการจัดการประกวดวงดนตรีของนักเรียนไทยจากมหาวิทยาลัยต่างๆด้วย ซึ่งกิจกรรมนี้นับเป็นกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จมากอีกกิจกรรมหนึ่งที่มีนักเรียนไทยและประชาชนชาวไทยทั่วไปเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

สามัคคีสาร

สามัคคีสาร (อังกฤษ: Samaggi Sara) เป็นวารสารที่จัดทำขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อสรุปผลงานของสามัคคีสมาคมในรอบปี สามัคคีสารมีการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2465 ในอดีตสามัคคีสารเป็นหนังสือที่รวบรวมบทความต่างๆ ทั้งด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ จากนักเรียนไทยในประเทศอังกฤษ และยังได้ร่วมบันทึกเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวกับประเทศไทยในสายตาของคนไทยผ่านมุมมองที่เปิดกว้าง เช่น ช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สงครามโลกครั้งที่สอง เหตุการณ์เดือนตุลา ฯลฯ บุคคลที่ได้ส่งผลงานลงวารสารหลายท่านได้เป็นนักคิด นักเขียน นักเรียกร้องทางการเมือง ที่สำคัญหลายคน อาทิเช่น ปรีดี พนมยงค์, ป๋วย อึ๊งภากรณ์, เสน่ห์ จามาริก, ไชยยันต์ ชัยพร, ส. ศิวรักษ์, ธีรยุทธ บุญมี เป็นต้น[2]